ผู้เขียน : ปรารถนา โกวิทยางกูร
วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (2020): พฤษภาคม – สิงหาคม 2563
คำสำคัญ : การวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม ทักษะการคิดวิเคราะห์ นักเรียนระดับประถมศึกษา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการใช้กระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความสามารถของครูผู้สอนในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ในอำเภอเมืองลำปาง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือครูผู้สอนในโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดป่ารวก) รวม 15 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจงจากโรงเรียนมีความตระหนัก มีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน คณะครูผู้สอนมีความสนใจและเต็มใจเข้าร่วมการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา” 2) แบบประเมินการรายงานผลการพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ของครูผู้สอน 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการ และ 4) แบบบันทึกสนทนากลุ่ม โดยเครื่องมือทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาความเที่ยงตรงจากผู้เชี่ยวชาญ การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยครูผู้สอนมีส่วนร่วมกับผู้วิจัยในทุกขั้นตอนของการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา ได้ผลสรุปการวิจัยดังนี้ การใช้กระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความสามารถของครูผู้สอนในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ในอำเภอเมืองลำปาง พบว่า 1) ระยะการวางแผนปฏิบัติการวิจัย ครูผู้สอนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหานักเรียนร่วมกัน ร่วมกันวิเคราะห์วิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ให้กับนักเรียนร่วมกัน จึงทำให้ได้แผนการปฏิบัติการสอดคล้องกับปัญหาที่ครูผู้สอนต้องการแก้ไขจึงเป็นผลให้การดำเนินการวิจัยได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากครูผู้สอน 2) การใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ พบว่าครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคิด วิเคราะห์เพิ่มมากขึ้น มีความพึงพอใจมากต่อการอบรมเชิงปฏิบัติในการพัฒนาความสามารถของครูผู้สอน และสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปพัฒนานักเรียนได้ และ 3) ผลการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติในระยะประเมินผลการปฏิบัติการวิจัย พบว่าครูผู้สอนสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้ดีขึ้น ครูผู้สอนได้ปรับเปลี่ยนบทบาทรวมถึงเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ทำให้ได้ผลการดำเนินการที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ตามบริบทและสภาพปัญหา รวมถึงได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งต่อไป