วันศุกร์, 26 เมษายน 2024

การคิดเชิงออกแบบ : ครูนวัตกรวิถีใหม่ 

19 พ.ค. 2022
381

ผู้เขียน : มะยุรีย์ พิทยาเสนีย์ พิชญาภา ยวงสร้อย
คำสำคัญ: การคิดเชิงออกแบบ, ครูนวัตกร, วิถีใหม่, การพัฒนานวัตกรรม
วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2021): กรกฎาคม – ธันวาคม 2564

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำเสนอกระบวนการพัฒนานักศึกษาครูให้มีความเป็นนวัตกรที่สามารถพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบดิจิทัลหรือรูปแบบออนไลน์เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมวิถีใหม่ด้วยการคิดเชิงออกแบบ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ คือ การศึกษาปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียด และลึกซึ้งด้วยวิธีการสังเกต การสอบถาม และการลองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ 2) การตีความปัญหาและกำหนดความต้องการ คือ การสรุปประเด็นปัญหาให้ได้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอย่างไรก่อนการนำไปสู่ขั้นตอนการระดมสมอง 3) การระดมสมอง คือ การระดมความคิดของกลุ่มอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ได้ข้อสรุปนำไปสู่การสร้างต้นแบบนวัตกรรม 4) การสร้างต้นแบบ คือ การนำข้อสรุปที่ได้จากกลุ่มมาสร้างเป็นชิ้นงานรูปธรรมแบบหยาบ ๆ และ 5) การทดสอบ คือ การนำต้นแบบที่สร้างขึ้นไปใช้ทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อการสะท้อนกลับและนำสู่การปรับปรุงจนกว่าจะได้ต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุด โดยทั้ง 5 ขั้นตอนของการคิดเชิงออกแบบนี้เป็นพลังสำคัญของระบบการจัดการศึกษาที่จะขับเคลื่อนนักศึกษาครูอันเป็นกำลังสำคัญชาติให้มุ่งสู่ความเป็นนวัตกรเพื่อพัฒนาประเทศไทย สามารถประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนและถ่ายทอดสู่ผู้เรียนได้อย่างลงตัว ตลอดจนนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน นวัตกรรมสำหรับการประกอบอาชีพก่อให้เกิดความมั่นคั่ง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมในบริบทและสภาพแวดล้อมปัจจุบันได้อย่างยั่งยืนสืบไป