วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2024
Course Content
แบบทดสอบก่อนเรียน
แบบทดสอบก่อนเรียน
0/2
โปรแกรมนำเสนอเพื่องานอาชีพ ว31285(หน่วยที่ 3 เรื่อง สร้างสรรค์ชิ้นงานนำเสนอ)
About Lesson

ประเพณี ตามตุงซาววา

วิถีอดีตตุงซาววาที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ของ อำเภองาว จังหวัดลำปาง สืบสานตำนานจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อถวายแด่ดวงวิญญาณของเจ้าแม่สัปปะกิเจ้าเมืองงาวในอดีต เพื่อทำนายดินฟ้าอากาศ และเพื่อความสามัคคีของคนอำเภองาว

ในอดีตอำเภองาว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำปาง ในจำนวน 10 อำเภอ มีชื่อว่า เมืองเงิน หรือ เมืองเงือน เป็นอำเภอที่มีความเจริญรุ่งเรืองในสมัยก่อน มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น คือประเพณีถวาย (ตาน) ตุงซาววา

        

ตุงซาววา ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชน ตุงซาววาเปรียบเสมือนเป็นประเพณีประจำเมืองง้าวเงินมาแต่อดีต วิถีชีวิตของคนทำตุงซาววาในชุมชนมีความเชื่อเรื่องตุง และมีการถ่ายทอดฝึกฝนจากบรรพบุรุษ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และวัดในชุมชน ตุงซาววาจึงสามารถเป็นสิ่งแสดงออกถึงความสามัคคี จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

การทำตุงซาววาต้องใช้ผ้าที่มีความยาว 20 วา ซึ่งคำว่า “ซาว” แปลว่า “ยี่สิบ” ตุงซาววา ก็คือ ตุงที่มีความยาว ยี่สิบวา หรือประมาณ 40 เมตร ในอดีตคนในชุมชนจึงมีการปลูกฝ้ายเพื่อทำการทอผ้าและประดิษฐ์ตกแต่งตุงซาววาให้สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ในการทำตุงซาววาไม่จำเป็นต้องมีความยาวตามที่กำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของผู้ทำ แต่จะต้องมีห้อง (ช่อง) อย่างน้อย 16 ห้อง

ในปัจจุบันอำเภองาวมีโบราณสถานที่สำคัญคือวัด 4 วัด ที่มีความเกี่ยวข้องกับผืนผ้าตุงซาววา ได้แก่ วัดน้ำจำ (วัดดอนมูล) เป็นวัดที่มีความเกี่ยวกับตำนานของตุงซาววา วัดปงคก เป็นวัดที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดทำตุงซาววา วัดพระธาตุม่อนทรายนอน เป็นสถานที่ในการถวายตุงในสมัยปัจจุบัน และ วัดศรีมุงเมือง เป็นวัดแรกของชาวอำเภองาว

อาจารย์วัลลภ นนทมาลย์ เลขาสภาวัฒนธรรม อำเภองาว เล่าตำนานให้ฟังว่า จากตำนานเล่าขานกันต่อ ๆ มา ในอดีตเมืองง้าวเงิน (อำเภองาว) ปกครองโดยเจ้าแม่สรรพกิจ (สัปปะกิ) อพยพมาจากเมืองลับแล (จังหวัดอุตรดิษถ์) มารวบรวมผู้คนในเมืองงาวร่วมสร้างบ้านแปงเมือง โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่วัดศรีมุงเมือง (วัดพระธาตุตุงตำในอดีต) หรือพระธาตุเจดีย์แดง ชุมชนโบราณเรียกว่าชุมชนศรีมุงเมือง และชุมชนบ้านใหม่ ตลอดถึงเวียงบน หรือต่อมาเรียกว่า บ้านดอยไชย ต่อมาเจ้ากะระปัต ผู้พี่ครองเมืองภูกามยาว (เมืองพะเยา) ซึ่งเป็นพี่ของเจ้าแม่สัปปะกิ ได้ยินคำเล่าลือถึงความสามารถของน้อง และเป็นคนมีจิตใจเมตตา จึงได้ปลอมตัวเป็นขอทาน โดยขี่ม้ามาลงที่บ้านหนองเหียง และเดินเข้ามาในเมืองของเจ้าแม่สัปปะกิขออาหารกิน ทหารของเจ้าแม่ได้เอาข้าวเน่าเสียให้กิน

ฝ่ายเจ้ากะระปัตมีความโกรธแค้นเป็นอย่างมาก เมื่อได้เดินทางกลับมาทางด้านหมู่บ้านแม่งอนจึงเอาข้าวเน่าไปทิ้งบริเวณทุ่งเหล่านั้น จึงมีชื่อเรียกว่า “ทุ่งข้าวเน่า” จากนั้นได้ส่งสารมาท้ารบกับเจ้าแม่สัปปะกิในอีกสามปี ฝ่ายเจ้าแม่สัปปะกิได้หาวิธีป้องกันเมือง โดยเกณฑ์ผู้คนมาช่วยกันขุดคูเมืองป้องกันข้าศึก (ปัจจุบันหลักฐานคูเมืองอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดศรีมุงเมือง) เจ้าแม่สัปปะกิได้ต่อสู้เต็มความสามารถ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ทัพเมืองภูกามยาว (พะเยา) เจ้าแม่สัปปะกิได้หลบหนีไปถึงบ้านน้ำจำ (บ้านดอนมูลในอดีต) และเจ้ากะระปัตเจ้าเมืองภูกามยาว ได้ติดตามมาจนถึงบ้านน้ำจำ พยายามจะประหารเจ้าแม่สัปปะกิแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเจ้าแม่สัปปะกิในอดีตชาติเคยช่วยเหลือหอยทากเอาไว้ 2 ตัว ให้พันจากการถูกไฟไหม้ และต่อมาหอยทากทั้ง 2 ตัวได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ มองเห็นถึงความเดือดร้อนของเจ้าแม่สัปปะกิ จึงช่วยเหลือนางให้รอดพ้นจากการถูกประหารชีวิตในครั้งนั้น โดยปล่อยตุงลงมารับเอาเจ้าแม่สัปปะกิสู่สรวงสวรรค์

อาจารย์วัลลภ เล่าให้ฟังต่อว่า จากตำนานดังกล่าวชาวบ้านจึงได้ตั้งเสาเพื่อปักตุงซาววาขึ้นที่บ้านน้ำจำ (บริเวณทุ่งนาก่อนถึงบ้านน้ำจำ) โดยมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่เจ้าแม่สัปปะกิ เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข มีฝนตกตามฤดูกาล

ต่อมาหลวงพ่อวิฑิตธรรมคุณ และหลวงพ่อพระครูสิทธิญาณโสภณ ได้ย้ายเสาตุงซาววาไปไว้ที่วัดม่อนทรายนอน หลังจากนั้นชาวบ้านอำเภองาวจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 17 เมษายน เป็นประเพณีในการถวายตุงซาววา และได้มีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกปี

และในปีนี้ก่อนวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ชาวบ้านในอำเภองาวต่างร่วมมือร่วมใจกันประดิษฐ์ตุงและเตรียมสิ่งของเพื่อจัดในพิธี เมื่อถึงวันที่ 17 เมษายน ในช่วงเช้าชาวบ้านได้จัดตั้งขบวนแห่ตุงอยู่บริเวณที่หน้าวัดม่อนนอนทราย มีฟ้อนรำสาวสวยอยู่ด้านหน้าขบวน

เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีแล้วเสียงดนตรีเริ่มบรรเลงเคลื่อนย้ายขบวนแห่เข้าไปยังวัดม่อนนอนทราย และแห่วนรอบเสา 3 รอบ ก่อนที่จะนำตุงเข้าไปทำพิธี

ในช่วงบ่ายหลังจากทำพิธีเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณดลนรุตม์ ชาญเศรษฐนนท์ นายกเทศมนตรี ต.หลวงใต้ ได้นำแห่ตุงมาวนที่เสา 3 รอบ ในขณะที่เดินแห่ชาวบ้านต่างครื้นเครงเต้นรำกันอย่างมีความสุก ท่ามกลางหยดละอองน้ำจากรถฉีดน้ำที่มาช่วยลดความร้อนของไอแดด เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้วจึงนำตุงขึ้นสู่ยอดเสาเพื่อทำนายพยากาณ์อากาศของปีนี้

เนื่องจากในอดีตยังไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าสภาพอากาศได้เลย ชาวบ้านจึงมีการเสี่ยงทายจากขนาดความยาวของตุง โดยหลักของการเสี่ยงทายคือถ้าตุงซาววาที่ยกขึ้นเสามีตัวผ้าที่ยาวกว่าเสาจนหางตุงยาวลากดินก็จะทำนายว่าปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก และหากตัวตุงสั้นกว่าเสาจะทำนายว่าปีนั้นขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์

สำหรับคำทำนายของตุงซาววาในปีนี้ แม่ศรีวรรณ ตำใต้ ร่างทรงอายุราว 70 ปี ผู้สือทอดการเป็นร่างทรงมาตั้งแต่อายุ 44 ปี ได้กล่าวคำทำนายให้ฟังว่า ขนาดของตุงในปีนี้มีจะสั้นกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปีที่แล้วความยาวของ

ตุงหางจะยาวไปถึงหน้าบันไดนาคทางขึ้นพระธาตุ ส่วนปีนี้ถือว่าสั้นมากที่สุดหลังจากที่ได้เห็นมา จึงได้ทำนายว่า ปีนี้จะแล้งหนักมาก น้ำท่าจะน้อยไม่อุดมสมบูรณ์ จะขาดแคลนหลายอย่างทั้งเงิน ทอง ข้าวของเครื่องใช้ โดยจะแล้งไปจนถึงกลางปีถึงจะมีฝน

ประเพณีตานตุงซาววา ถือเป็นหนึ่งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนต่างแสดงออกถึงความสามมัคคีจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และให้คนรุ่นหลังรักษาไว้และสืบทอดต่อไป

Join the conversation
0% Complete