สะพานแขวนแห่งแรก เก่าแก่ และยาวที่สุดในไทย
ที่มาและความสำคัญ :
ประมาณปี พ.ศ. 2458 มีการดำเนินการถนนพหลโยธิน โดยตั้งตั้นสร้างจากกรุงเทพฯ เรื่อยมาถึงอำเภองาว จังหวัดลำปาง แล้วก็พบว่า มีแม่น้ำงาวขวางกั้นอยู่ ในเส้นทางหลักของการเดินทางขึ้นไปสู่จังหวัดพะเยา เชียงราย และกลับลงมาสู่กรุงเทพฯ ครั้นจะสร้างสะพานแบบทั่วไปก็ทำไม่ได้ คงจะพังเสียหายเป็นแน่ เพราะมีซุงไม้สักทองท่อนใหญ่มหึมาจำนวนมากมายล่องผ่านลำน้ำนี้อยู่เป็นประจำ แล้วท่อนซุงไม้สักทองจำนวนมากมายเหล่านี้จะล่องต่อไปลงสู่แม่น้ำยมไม่ได้ด้วย ดังนั้นสะพานข้ามแม่น้ำงาวจึงถูกริเริ่มคิดทำโครงการจัดสร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นสะพานแขวนแห่งแรกของประเทศไทย
วิธีดำเนินการสร้าง :
ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2469 ใช้ระยะเวลาสร้างรวมทั้งสิ้น 18 เดือน และเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2471 มีความยาว 80 เมตร กว้าง 4 เมตร เสากระโดงสองฝั่งสูง 18 เมตร เป็นสะพานเหล็กแขวนที่ใช้รอกดึง ไม่มีเสากลาง วางโครงเหล็กเหมือนทางรถไฟ ใช้ไม้หมอนเรียงเป็นลูกระนาด ปูไม้กระดานทับเฉพาะช่วงล้อรถยนต์ มีทางเท้าทั้งสองฝั่ง ใช้สลิงยึดตลอดตัวสะพาน ออกแบบสร้างโดยนายช่างชาวเยอรมัน ควบคุมการก่อสร้างโดยขุนเจนจบทิศ ส่วนเจ้าของโครงการ คือ กรมทางหลวงแผ่นดิน ในความดูแลของขุนขบวนบถดำริห์
คุณประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย :
1. เดิมที สะพานโยงไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่กรมทางหลวงแผ่นดิน เรียกว่า “สะพานข้ามลำน้ำแม่งาว” ทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางด้วยถนนพหลโยธินจากภายนอกไปสู่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายอยู่หลายสิบปี กระทั่งมาเลิกใช้ เพราะมีการสร้างเส้นทางถนนพหลโยธินสายใหม่ขึ้นแบบบายพาส ไม่ผ่านเข้ามาในตัวเมืองงาว อย่างไรก็ตาม สะพานโยงก็ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ขณะปัจจุบันได้เปิดให้เฉพาะการเดินข้ามฟากแม่น้ำงาวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ผ่าน เพื่อป้องกันและควบคุมการชำรุดเสียหาย และอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของลูกหลานไทย สืบไป
2. นักท่องเที่ยว นิยมชมชอบมาใส่บาตรขณะพระบิณฑบาตตอนเช้าตรู่ จะมีพระอาทิตย์ขึ้นเปล่งรัศมีสวยงามยามเช้า และถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกนึกถึงความงดงามอันน่าประทับใจของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งบนแผ่นดินไทย
3. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 นายอำเภองาว พร้อมข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนในพื้นที่ และชาวเขาจำนวน 6 เผ่า ประกอบด้วย ม้ง ปกากะญอ เมี่ยน กะเหรี่ยง มูเซอ อาข่า จำนวนกว่า 100 คน ได้ร่วมกันตั้งแถวบนสะพานโยงสัญลักษณ์เมืองงาว พร้อมใจกันร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีมหาราชา เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และถวายความอาลัยพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยที่ทุกคนต่างกล่าวปฎิญานตนจะน้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านไปประยุกต์ใช้ปฎิบัติในหน้าที่การงานและการดำรงชีวิต สืบไป